วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หัตถกรรมของจังหวัดอุบลราชธานี

ความหมายของงานหัตถกรม

                หัตถกรรม หมายถึง การทำด้วยฝีมือ การช่าง ซึ่งเริ่มต้นทำกันในบ้านและในหมู่บ้าน โดยที่ ชาวบ้านใช้เวลานอกเหนือเหนือจากอาชีพหลัก เป็นการทำงานอดิเรกเพื่อเพิ่มพูนรายได้ เพื่อการดำรงชีวิตให้ดีขึ้นและทำขึ้นเพื่อใช้กันเองในครอบครัว โดยใช้วัสดุที่หาง่ายตามท้องถิ่นนั้น ๆ มีรูปแบบเฉพาะตามลักษณะของวัสดุ สภาพการใช้งานและความพอใจของผู้ผลิตในแต่ละท้องถิ่นทำให้เกิดรูปแบบเฉพาะ (STYLE) ของท้องถิ่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นสิ่งที่ประดิษฐ์ได้ขยายมากขึ้นจนกลายเป็นอาชีพสามารถขยายตลาดไปทั่วประเทศหรือเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ
คุณค่าของงานหัตถกรรม
               ศิลปหัตถกรรมมีความหมายสำคัญ เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตายเนื่องจากชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ต้องสัมพันธ์เกี่ยวกับ สิ่งของ เครื่องใช้ซึ่งเป็นประดิษฐ์กรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตตามสภาพแวดล้อมต่างๆงานหัตถกรรมจึงเป็นดังกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละยุคสมัยเป็นตัวบอกเล่าประวัติศาสตร์ สภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในกลุ่มต่างๆ คุณค่าของศิลปหัตถกรรม จึงแบ่งออกได้ดังนี้
1. ด้านประโยชน์ใช้สอย สร้างขึ้นบนพื้นฐานการดำรงชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการเพื่ออำนวยความสะดวกสายทางกายภาพหรือเพื่อแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิต
2. ด้านความเชื่อและค่านิยม งานศิลปหัตถกรรมแต่เดิมนั้นผู้สร้างและผู้ใช้เป็นคนเดียวกัน คือสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานเองการที่ผู้สร้างจะมีค่านิยมและความเชื่อต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างไรก็ย่อมจะถ่ายทอดสู่งานที่ตนสร้างด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนโดยมีแบบแผนของกลุ่มวัฒนธรรมที่ดำรอยู่เป็นตัวหล่อหลอมงานศิลปหัตถกรรมจึงสะท้อนความเชื่อ ค่านิยม ของผู้สร้าง
3. คุณค่าทางด้านประวัตศาสตร์ และโบราณคดีเนื่องจากงานศิลปหัตถกรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างมีจุดประสงค์และเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาแต่ในอดีตได้เป็นอย่างดีในฐานะข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรมทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
4. คุณค่าทางด้านความเป็นเอกลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรมงานศิลหัตถกรรมเกิดขึ้นภายใต้ความแตกต่างทางสภาพแวดล้อม ฐานทรัพยากร ประเพณีคติความเชื่อ ที่หล่อหลอมเกิดเป็นแบบแผนวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม
5. คุณค่าทางด้านความงามการสร้างงานศิลปหัตถกรรมย่อมประกอบขึ้นด้วยความต้องการทางประโยชน์ใช้สอยแต่ผู้สร้างก็ได้พิจารณารูปทรงที่เหมาะสมและความงามที่น่าใช้สอยประกอบไปด้วยโดยได้แสดงออกผ่านทางรูปทรงโครงสร้าง ลวดลาย วัสดุและฝีมืออันวิจิตร ประณีต
6. คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการผลิตสินค้าและของที่ระลึกจากการท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นจนถึงการสร้างรายได้โดยการส่งออกต่างประเทศ
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดงานหัตถกรรม
   งานหัตถกรรมเกิดขึ้นภายใต้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี ความเชื่อภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นงานหัตถกรรมจึงเป็นพื้นฐานความต้องการในการดำรงชีวิต ซึ่งมีที่มาและลักษณะของงานแตกต่างกัน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดงานหัตถกรรม ประกอบด้วย 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่
1. สภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์
2. ทรัพยากรหรือวัสดุท้องถิ่น
3. ภูมิปัญญาหรือประวัติศาสตร์ในแต่ละท้องถิ่น
4. แบบแผนและรูปแบบกรรมวิธี
5. ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมคติความเชื่อและศาสนา
งานหัตถกรรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้ากาบบัว 
ประวัติ

   "ผ้ากาบบัวได้มีการประกาศให้ เป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 25 
เมษายน พ.ศ. 2543 โดยคณะทำงานพิจารณาลายผ้าพื้นเมือง ตามโครงการสืบสานผ้าไทย สายใย
เมืองอุบลฯ ได้ร่วมพิจารณาศึกษาประวัติความเป็นมาของลายผ้าในอดีต ที่ทรงคุณค่ามาปรับปรุง ออก
แบบสร้างสรรค์ลายผ้า เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้คัดเลือกให้ชื่อว่า "ผ้ากาบบัว"เป็น
ลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี มีคุณลักษณะดังนี้
      สีผ้ากาบบัว เป็นสีของกาบบัว หรือกลีบบัว ซึ่งไล่จาก สีอ่อนไปแก่ จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล 
ซึ่งผ้ากาบบัวมีความหมายและเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วยเส้นยืน ย้อมอย่างน้อยสองสี เป็นริ้วตามลักษณะ
 "ซิ่นทิว" นอกจากนี้ ยังทอพุ่งด้วยไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด
       จากบทนิยาม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฉบับที่ 
1547 (พ.ศ. 2552) ได้ให้ความหมายกำหนดลักษณะเฉพาะของผ้ากาบบัว เป็น 3 ประเภท ได้แก่ 
ผ้ากาบบัว (ธรรมดา) ผ้ากาบบัว (จก)และผ้ากาบบัว (คำ)
        ผ้ากาบบัว(ธรรมดา) หมายถึงผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตาม
ลักษณะซิ่นทิว และใช้เส้นด้ายพุ่งทอเป็นลาย คั่นด้วยหางกระรอก(ควบเส้น) มัดหมี่ และขิด
       ผ้ากาบบัว(จก)  หมายถึงผ้าทอที่ใช้เส้นด้ายยืนอย่างน้อย 2สี ทอเป็นพื้นลายริ้วตามลักษณะ
ซิ่นทิว และเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษ โดยการจกเป็นลวดลาย กระจุกดาว หรือเกาะลายดาว ซึ่งอาจมีเป็นช่วง
กลุ่มหรือกระจายทั่วทั้งผืนผ้า
        ผ้ากาบบัว(คำ) หมายถึงผ้าทอที่มีหรือไม่มีลายริ้วก็ได้ เป็นผ้ายกหรือผ้าขิดที่ใช้เส้นด้ายพุ่งเพิ่ม
พิเศษคือดิ้นทอง อาจสอดแทรกด้วยดิ้นเงินหรือไหม สีต่างๆไปตามลวดลายบนลายพื้น และคั่นด้วย
มัดหมี่
  ผ้ากาบบัว (ธรรมดา) 

   ผ้ากาบบัว (จก) 
 ผ้าผ้ากาบบัว (คำ)

    2. ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
           ผ้ากาบบัวเป็นผ้าที่มีลักษณะรวมเอาเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผ้าพื้นเมืองอุบลมารวมไว้
    หลายชนิดได้แก่ ลักษณะของซิ่นทิว มับไม มัดหมี่ ผ้าขิดหรือจก                                                                        ซิ่นทิว ผ้ากาบบัวต้องมีเส้นยืนหรือริ้วหรือทิว2 สีตามลักษณะของซิ่นทิวดั้งเดิมซึ่งเป็นที่
    นิยมของสตรีเมืองอุบลอย่างแพร่หลายมาก่อน                                                                                                   มับไม ผ้ากาบบัวต้องมีเส้นพุ่งมับไมซึ่งเกิดจากการเข็นคือปั่นเกลียวเส้นพุ่ง2 เส้นเข้า
    ด้วยกันการเข็นมับไมนี้พบในผ้าที่เรียกว่า ผ้าไหมควบหรือผ้าไหมหางกระรอกหรือผ้าวา 
    และซิ่นเข็น                     
            มัดหมี่ ผ้ากาบบัวจะสวยงามมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลวดลายหมี่เป็นองค์ประกอบหลัก
    ลายหมี่ในผ้ากาบบัวทั้งลายดั้งเดิมและลายประยุกต์ขึ้นใหม่                                                                                 ขิด ผ้ากาบบัวต้องมีเส้นพุ่งที่เป็นเส้นใหญ่หรือเส้นนูนขึ้นจากเนื้อผ้าเป็นการเลียนแบบเส้น
    ลายของกลีบบัวซึ่งใช้วิธีขิด                                                                                                                                 จก การจกเป็นการตกแต่งให้ผ้ากาบบัวมีความวิจิตรงดงามยิ่งขึ้น เป็นวิธีที่ยากและเสีย
    เวลามากขึ้น ผ้ากาบบัวจึงอาจจะมีจกหรือไม่มีก็ได้ โดยเจตนาของผู้คิดผ้ากาบบัว มุ่งที่จะคง
    ลักษณะผ้าซิ่นหัวจกดาวของสตรีชั้นสูงของเมืองอุบลเอาไว้

               กรรมวิธีการทอเริ่มจาก การเตรียมเส้นยืนหรือการค้นเครือหูก จะเตรียมเส้นยืนให้เป็นเส้น
ไหม 2 สี สลับกัน ซึ่งคือลักษณะของซิ่นทิว ส่วนเส้นพุ่ง ประกอบด้วยเส้นไหม 4 ชนิด คือ เส้นไหม
สีพื้น เส้นไหมมับไม ( เส้นที่ปั่นเกลียวเส้นไหม 2 สีเข้าด้วยกัน ) เส้นไหมสำหรับขิด (โดยนำเส้น
ไหมมาควบกัน 2 เส้นเพื่อให้เส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ) เส้นไหมหมี่ (เส้นไหมที่นำมามัดย้อมเป็น
ลวดลายเรียบร้อยแล้ว) เมื่อเตรียมเส้นไหมพุ่งทั้ง 4 ชนิด เรียบร้อยแล้ว จึงนำไปทอในหูกที่ค้นเครือ
ไว้ โดยในการทอผู้ทอจะต้องจดจำรายละเอียด และลำดับของการสอดเส้นไหมพุ่งและการเก็บขิด
ตามลวดลายที่วางไว้
การผูกหูกขึ้นเส้นยืน

    3. การนำไปใช้ประโยชน์
                   ผ้ากาบบัว ส่วนใหญ่จะนำมาใช้ในการตัดเย็บเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิง ในสมัย
    โบราณนั้น  ฝ่ายชายจะใช้ ผ้าปูม (ทอแบบมัดหมี่สำหรับนุ่งโจม) ผ้าวาหรือผ้าหางกระรอก
    (ทอด้วยเส้นมับไม)  ผ้าโสร่ง (ทอคั่นเส้นมับไม) ผ้าสร้อยปลาไหล (ทอด้วยเส้นมับไม) 
    ผ้าแพรอีโป้ (ผ้าขะม้า) ผ้าปกหัว (นาค) และผ้าแพรมน เป็นต้น สำหรับฝ่ายหญิง มีซิ่นชนิดต่างๆ
    คือ ซิ่นยกไหมคำ (ดิ้นเงิน - ดิ้นทอง) ซิ่นขิดไหม (ยกดอกด้วยไหม) ซิ่นหมี่ ซิ่นทิว ซิ่นไหมควบ 
    ซิ่นลายล่อง นอกจากนี้ ยังมีผ้าห่ม (ถือ) หรือผ้าเบี่ยง (สไบ) และผ้าตุ้มอีกหลายแบบ
แหล่งทอผ้าไหมในจังหวัดอุบลราชธานี
1. บ้านลาดสมดี ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล
2.
บ้านโนนสวาง ตำบลโนนสวาง อำเภอกุดข้าวปุ้น
3.
บ้านสร้างถ่อ ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน
4.
บ้านปะอาว ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง
5.
ศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย อำเภอเขื่องใน
6.
บ้านคำปุน อำเภอวารินชำราบ
เป็นแหล่งทอผ้าของจังหวัดอุบลราชธานี หลังจากทอผ้าเสร็จสิ้นแล้วมีการจำหน่ายขายปลีกและขายส่งนอกจากนี้แล้วยังมีร้านค้ารับผ้าไหมที่ทอสำเร็จแล้วมาขายปลีกอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมี
ศูนย์สินค้าเศรษฐกิจเพื่อชุมชน อุบลราชธานี จำกัดเป็นศูนย์จำหน่ายผ้า
สรุป
  หัตถกรรม (Handicraft) คือ งานช่างที่ทำด้วยมือหรืออุปกรณ์ง่าย ๆ อาศัยทักษะและเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก โดยทั่วไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและศาสนา สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก หรือผลิตด้วยเครื่องจักร ไม่เรียกว่าหัตถกรรม
สัมภาษณ์  คุณยายสีผา บ้งพรม บ้านเลขที่ 52/8 บ้านภูเวียง ตำบลสารภี อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานีรหัสไปรษณีย์34340 สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 23 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556

 
ผ้ากาบบัวในจังหวัดอุบลราชธานี
    ผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมโบราณอีสานหลายเรื่อง คำว่า "กาบ"ในภาษาอีสานมีความหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของต้นไม้บางชนิด เช่น เปลือกหุ้มต้นกล้วย เรียก กาบกล้วย หุ้มไม้ไผ่ เรียก กาบลาง กลีบหุ้มดอกบัว เรียก กาบบัว ผ้ากาบบัวอาจจะทอด้วยไหมหรือฝ้าย โดยมีเส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เส้นพุ่ง (Weft) จะเป็นไหมสีมับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิดจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมืองมาช้านาน เห็นได้จากวรรรกรรมโบราณอีสานและประวัติศาสตร์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอุบลราชธานี ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงภูมิปัญญาของผู้ทอผ้าที่ได้รังสรรค์บรรจงด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายอันวิจิตร สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน ผ้ากาบบัว ได้รับการสืบสานให้เป็นผ้าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นผ้าไทย มีการสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ลายกาบบัวตั้งแต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยรุ่นด้วยรูปแบบที่หลากหลาย
อ้างอิง

  •  ผ้ากาบบัว คุณยายสีผา บ้งพรม  สัมภาษณ์เมื่อ วันที่ 23 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556
  • ปัจจัยที่ก่อให้เกิดงานหัตถกรรมhttp://thailandhandmadebuu.wordpress.com เข้าถึงเมื่อ วันที่ 24  เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556
  • ความหมายของงานหัตถกรรม http://sites.google.com/site/thaidva  วันที่ 24  เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556
  • ผ้ากาบบัว http://thailandhandmadebuu.wordpress.com   วันที่ 24  เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556
  • สารานุกรมภาษาอีสาน ปรีชา พิณทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น