วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาและความเชื่อของชาวจังหวัดอุบลราชธานี

                       การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญาและความเชื่อ  จึงเป็นการรักษาด้วยวิธีที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นการสืบทอดต่อกันมาเป็นรุ่นๆ  โดยการที่ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้  และสืบทอดต่อกันไปเป็นทอดๆ  เช่น  การรักษาโรคด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน  การนวด  การประคบสมุนไพร  การบายศรีสู่ขวัญ  การเป่า  การเสียเคราะห์  เป็นต้น

1.   การรักษาโรคด้วยภูมิปัญญา
       ภูมิปัญญา  หมายถึง  องค์ความรู้ความสามารถที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ซึ่งได้ผ่านการเลือกสรร   ปรุงแต่ง  พัฒนาและสืบทอดต่อๆ  กันมา  เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของคนไทย ส่งผลที่ให้มีชีวิตที่ดี  มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัย
       สมุนไพรพื้นบ้าน  พืชสมุนไพรเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ  ที่มนุษย์รู้จักนำมานำมาใช้เป็นประโยชน์  เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่โบราณกาลแล้ว  จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้สมุนไพรรักษาโรคต่างๆ  มานาน   ซึ่งส่วนมากจะพบในท้องถิ่นชนบท และเป็นพืชผักพื้นบ้านใช้ในชีวิตประจำวัน  ตัวอย่างพืชผักสมุนไพรที่ชาวจังหวัดอุบลราชธานีใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้าน  ได้แก่

ใบบัวบก
-  บัวบก  (ผักหนอก  หรือ  ผักแว่น  ในภาษาอีสาน)  ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผลเปื่อย  แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก  โดยใช้ใบสด  1  กำมือ  ล้างให้สะอาด  ตำละเอียด  คั้นเอาน้ำทาบริเวณแผลบ่อย ๆ  ใช้กากพอกด้วยก็ได้  แผลจะสนิทและลดการเกิดแผลเป็นชนิดนูน  (keloid)  ซึ่งบัวบกนั้นช่วยสมานแผลและเร่งการสร้างเนื้อเยื่อ  ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองและลดการอักเสบ  ดื่มลดไข้  รักษาโรคปากเปื่อย  ปากเหม็น  เจ็บคอ  ร้อนใน  กระหายน้ำ  ขับปัสสาวะ  แก้ท้องเสีย                                                                          


บอระเพ็ด
- บอระเพ็ด  (เครือแอลกอฮอในภาษาอีสาน)  สรรพคุณใช้เถาเป็นยาแก้ไข้  ขับเหงื่อ  แก้กระหายน้ำ  แก้ร้อนใน  โดยนำเถาสดขนาดยาว  2  คืบครึ่ง  (30-40 กรัม)  ต้มคั้นเอาน้ำดื่ม  หรือต้มเคี่ยวกับน้ำ  3  ส่วนจนเหลือ  1  ส่วน  ดื่มก่อนอาหารวันละ  2  ครั้งเช้าเย็น  หรือเมื่อมีไข้  นอกจากนี้ใช้เป็นยาขมเจริญอาหารด้วย


ไพล
 - ไพล  (ว่านไฟ ในภาษาอีสาน)  สรรพคุณ  ใช้เหง้าเป็นยาขับลม  ขับประจำเดือน  มีฤทธิ์ระบายอ่อน ๆ แก้บิด  สมานลำไส้  ยาภายนอกใช้เหง้าสดฝนทาแก้เคล็ดยอก  ฟกบวม  เส้นตึง  เมื่อยขบ  เหน็บชา สมานแผล


พลู
- พลู สรรพคุณใช้น้ำคั้นใบสดกินเป็นยาขับลมและทาแก้ลมพิษ โดยใช้ 3-4 ใบ ขยี้หรือตำให้ละเอียด ผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็น ใบมีน้ำมันหอมระเหย สามารถบรรเทาอาการคันและฆ่าเชื้อโรคบางชนิดด้วย


ฟ้าทะลายโจร
- ฟ้าทะลายโจร(น้ำลายพังพอนในภาษาอีสาน) สรรพคุณ ใช้เฉพาะใบหรือทั้งต้นบนดินซึ่งเก็บก่อนที่จะมีดอกเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ท้องเสีย แก้ไข้ เป็นยาขมเจริญอาหาร ใช้รักษาโรคอุจจาระร่วง และบิดไม่มีตัว ขนาดที่ใช้คือพืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง หรือใช้พืชแห้งบดเป็นผงละเอียดปั้นเป็นยาลูกกลอน กินครั้งละ 3-6 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน

การนวด เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการรักษาโรค เป็นการดูแลสุขภาพกันภายในครอบครัว เช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย เป็นต้น การนวดส่วนใหญ่ในภาคอีสาน มักเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และอาการปวด เนื่องจากชาวอีสานส่วนใหญ่รวมถึงชาวจังหวัดอุบลราชธานีมีอาชีพเป็นเกษตรกร จึงมักปวดเมื่อยตามร่างกายได้บ่อย ยกตัวอย่าง การนวดในจังหวัดอุบลราชธานี เช่น
การนวดแก้สะบักจม
- การนวดแก้สะบักจม เกิดจากการทำงานหนัก แบกหรือหามของหนักมากเกินไป มีอาการปวดกล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังและสะบัก ยกแขนไม่สะดวก ก้มหรือเงยคอได้ไม่เต็มที่
จุดนวด
1.  นวดให้รอบขอบสะบัก โดยดันเข้าหากระดูกสันหลัง
2.  ร่องระหว่างซี่โครงซี่ที่ 1 และ 2
3.  จุดโค้งคอ


การนวดแก้อาการชา
- การนวดแก้อาการชา อาการชา  เกิดจากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี อาการเหน็บ หมายถึง อาการที่เกิดจากการไหลเวียนโลหิตเฉพาะส่วนไม่ดี ความรู้สึกเฉพาะส่วนลดลง มีความรู้สึกคล้ายมีมดไต่ เกิดอาการเป็นชั่วคราวและหายไปได้เอง สาเหตุเกิดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี เช่น เกิดจากการกดทับแนวนวดเส้นที่มีอาการชาและจุดที่ชาเช่นชาแขนนวดแขน 4 แนวแล้วเน้นจุดเฉพาะ

1.  นวดอาการชาทั่วๆไป

2.  เน้นแนวที่มีผลต่ออาการชา
3.  เน้นเฉพาะบางจุดที่มีผล
4.  นวดบริหารข้อต่อ เพื่อให้การไหลเวียนดีขึ้น

การนวดแก้ตกหมอน
- การนวดแก้ตกหมอน  เกิดจากการนอนหมอนที่สูงหรือแข็งเกินไป  ทำให้กล้ามเนื้อ  ต้นคอ  ต้องยืดเป็นเวลานานๆมีอาการปวดคอ ข้างใด  ข้างหนึ่ง  หรือปวดต้นคอถึงหัวไหล่  บางคนอาจปวดถึงสะบัก  จะเอี้ยวคอ  หรือหันหน้าไม่ถนัด  คอจะแข็ง  บางคนก้มหรือเงยไม่ได้  เวลาหันหน้าจะต้อง  หันไปทั้งตัว มักจะเกิดอาการปวดเมื่อย  เวลาจะหันหน้าหรือเอียงตัว
จุดนวด
1.  กดเส้นบ่า 1 และบ่า 2 เส้นคอ 1 และคอ 2
2.  กดนวดรอบขอบสะบัก โดยดันเข้าหากระดูกสันหลัง
3.  กดจุดโค้งคอข้างที่เป็น
4.  กดจุดปลายสะบัก แบบดันขึ้นบน

การนวดแก้จุกเสียด
- การนวดแก้จุกเสียด  สาเหตุเกิดจากการกินอาหาร  ไม่เป็นเวลา  กินอาหารย่อยยาก  หรือทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ง่าย  เช่น  ถั่วงอก  ถั่วลิสง  อาหารรสจัด หรือเกิดจากความเครียด  มีอาการจุกเสียดบริเวณยอด  อกหรือใต้ลิ้นปี่  บริเวณชายโคลง  ใต้สะบักและหน้าอก  หายใจขัด  ถ้าเรอจะรู้สึกสบายขึ้น  เบื่ออาหาร ท้องผูก
จุดนวด
1.  นวดเส้น 2 ท่อนขาล่างด้านนอก
2.  กดจุดนาคบาตร
3.  กดเส้น 1 และ 2 ที่หลัง
4.  กดจุดหน้าท้อง 12 จุด
5.  โกยท้อง ปิดสะดือ


การประคบสมุนไพร เป็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาช้านาน  โดยมีการใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก  เรียกว่า  ลูกประคบ  นำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ด  ขัดยอก  จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้นจะเป็นน้ำมันหอมระเหย  เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้ว น้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้น   และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง  ช่วยรักษาอาการเคล็ด  ขัดยอก  ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ  เอ็น  และข้อต่อ  นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด   ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น  อีกทั้งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียด  เกิดความสดชื่นอีด้วย

ส่วนผสมในการทำลูกประคบสมุนไพร
1.  ตะไคร้บ้าน มีน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้ความสดชื่น
2.  การบูร มีสรรพคุณเป็นยาระงับเชื้ออ่อนๆ เป็นยากระตุ้นหัวใจ ช่วยขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
3.  เกลือสามารถใช้ฆ่าเชื้อแก้อาการอักเสบได้ อีกทั้งเกลือยังมีความสามารถในการดูดความร้อน จะช่วยทำให้สรรพคุณทางยาของสมุนไพรซึมได้เร็วขึ้น
4.   ผิวมะกรูด มีสรรพคุณในการรักษาอาการหน้ามืดเป็นลม แก้อาการวิงเวียน และบำรุงหัวใจ ขับลมในลำไส้ได้อีกด้วย
5.   ขมิ้นชัน มีสรรพคุณในการลดการอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ลดอาการแพ้ได้
6.   ไพล มีสรรพคุณในการลดอาการปวด บวมแดงและแก้ฟกช้ำได้ด้วย
7.   ใบส้มป่อย มีสรรพคุณในการรักษาโรคผิวหนัง
8.   ใบมะขาม มีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณ
ลูกประคบสมุนไพร

อุปกรณ์สำหรับการทำลูกประคบ
1. ผ้าขาวบาง ควรจะเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าดิบ เพื่อไม่ให้ตัวสมุนไพรหลุดออกมาจากตัวผ้าได้
2. สมุนไพรข้างต้นที่กล่าวมาแล้ว ก่อนนำมาทำลูกประคบต้องทำความสะอาด แล้วหั่นหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ
3.  หม้อสำหรับนึ่งลูกประคบ
4.  เชือกที่ไว้ใช้สำหรับมัดลูกประคบ

วิธีทำลูกประคบ
1.  นำไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด มาทำความสะอาด แล้วมาหั่นหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ตามที่ต้องการ
2.  นำใบมะขาม ใบส้มป่อย มาผสมกับส่วนผสม ในข้อ 1 แล้วใส่เกลือและการบูร ผสมให้เข้ากัน
3.  แบ่งส่วนผสมที่ได้ออกเป็นส่วนๆ ใส่ในผ้าที่ได้เตรียมไว้ แล้วใช้เชือกที่เตรีมไว้มัดให้แน่น

สรรพคุณ
        ช่วยในการไหลเวียนของเส้นเลือด ลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดอาการปวด บวม เกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลายจากกลิ่นน้ำมันหอมระเหย ช่วยให้เกิดอาการตื่นตัวของร่างกาย เนื่องจากกลิ่นของสมุนไพรที่นำมารวมกัน
         หากยังไม่ต้องการนำลูกประคบมาใช้งาน เราสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 3-5 วันควนเก็บให้อยู่ในที่แห้ง และเมื่อต้องการนำลูกประคบออกมาใช้งาน เราเพียงแค่นำมานึ่งก่อนนำไปใช้งานประมาณ 10-15 นาที และก่อนใช้งานควรทดสอบก่อนด้วยว่าลูกประคบร้อนเกินไปหรือไม่


2.  การรักษาโรคด้วยความเชื่อ
           ความเชื่อ หมายถึง ความมั่นใจต่อสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นความจริง ซึ่งความเชื่อบางอย่างอาจสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน และผูกพันขั้นสูงสุดของมนุษย์ เกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณซึ่งถือว่าเป็นสิ่งมงคลแก่ผู้คน เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ
การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญการประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ ช่วยก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งชาวจังหวัดอุบลราชธานีได้เห็นความสำคัญทางจิตใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นวิถีการดำเนินชีวิตแทบทุกอย่างจึงมักจะมีการสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ การสู่ขวัญจะช่วยให้เกิด   สิริมงคล ชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเข้มแข็ง โชคดียิ่งขึ้น ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ทั้งพิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่นการสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสู่ขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี
พิธีการสู่ขวัญคน
- การสู่ขวัญคน ผู้เฒ่าผู้แก่จะช่วยกันจัดทำพานขวัญ(พานบายศรี) นิยมใช้ใบตองจับจีบตามแบบบารณจัดใสพาน จะเป็นพานขวัญธรรมดา 3 ชั้น 5 ชั้น ชั้นล่างมีบายศรีดอกไม้ ข้าวต้ม ขนม กล้วย ชั้นที่ 2, 3, 4 มีบายศรีดอกไม้ ชั้น 5 มีบายศรีดอกไม้ ฝ้ายผูกแขน เทียนเวียนหัว 7 ชั้น จัดพานรอง 3 ชั้น บายศรี 4 ชั้น แล้วจัดพานอีกใบหนึ่งสำหรับใส่ผ้าผืนแพรวา แว่น หวี น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน ส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ หมาก พลู บุหรี่ อาหาร ข้าวต้ม ขนมหวาน ไก่ต้ม สุรา จัดวางประกอบไว้อย่างสวยงาม พร้อมด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของผู้เป็นเจ้าของขวัญ พิธีจะเริ่มด้วยการแห่พานบายศรีเป็นขบวนฟ้อนนำพานบายศรีออกมาตั้งบนตั่งที่ปูผ้าขาวรองไว้ จากนั้นหมอสูตรขวัญ (พราหมณ์) จะเป็นผู้สวดชุมนุมเทวดา จุดเทียนเวียนหัว จุดธูป กราบพระพุทธรูป และพระสงฆ์ มีคู่สู่ขวัญเอามือขวาจับด้ายสายสิญจน์ เจ้าของขวัญจับพานขวัญผู้สวดป่าวประกาศเชิญขวัญอวยพร แล้วผูกข้อมือเป็นอันเสร็จพิธี
- การสู่ขวัญสัตว์ ควาย เป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่คู่ชาวไร่ชาวนามาช้านานตั้งแต่อดีตกาล เป็นสัตว์ให้คุณเป็นกำลังหลัก ของชาวนาในการปลูกข้าวเลี้ยงผู้คนมาโดยตลอด ปัจจุบันควายถูกใช้งานน้อยลงเพราะวิถีชีวิตเกษตรกร เปลี่ยนไปจากใช้แรงงานควายหันไปใช้แรงงานจากเครื่องจักรแทน
พิธีการสู่ขวัญสัตว์(ควาย)
พิธีการสู่ขวัญควายมีดังนี้

-  มีการเตรียมของต่าง ๆ ดังนี้ ทำพิธีโดยอาจารย์

- ข้าวตอกดอกไม้

-  เทียนธูป อย่างละ 2 หรือ 3 คู่ ดอกไม้น้ำส้มป่อย กรวยตองดิบ 1 คู่ (สวย) ด้ายสีขาวที่ใช้ผูกเขาควายยาวประมาณ 2 วา หญ้าอ่อนยาว1 ศอก ประมาณ  3 กำ (เพื่อนำมาป้อน) น้ำส้มป่อย ไก่ 1 คู่ เหล้าขาว 1 ขวดลำดับการสู่ขวัญ
- นำควายมามัดสั้นประมาณ 2 ศอก ผู้ทำพิธี (อาจ๋าน) เอาข้าตอกดอกไม้ ธูปเทียน นั่งลงใกล้ๆควายเจ้าของก็ให้นั่งใกล้ๆควายแล้วกล่าวคำขอสุมา   ดังนี้ ยกขันขึ้น มะหิงสา (หมายถึงควาย) บัดนี้ ตั่วข้านาย …………………(กล่าวชื่อเจ้าของ)……ก็ขอสุมาคาระวะอโหสิที่ได้ล่วงล้ำ ได้ด่าได้ว่าไปนั้นอย่าได้ถือสา…………………….(กล่าวไป)……โปรดได้อโหสิกรรมอย่าง มีบาปมีกรรมต่อกันอย่าได้อาฆาฒพยาบาทข้าพเจ้าเลย แล้นำขันข้าวตอกดอกไม้ยกขึ้นสุมาควาย ตรงกลางหัวควาย นำน้ำส้มป่อยรดหัวควาย เอาหญ้าที่เตรียมให้กิน นำด้ายผูกเขาควายทั้ง  2 ข้าง

พิธีการสู่ขวัญข้าว(บุญคูณลาน)
- การสู่ขวัญข้าว หรือบุญคูณลาน ความหมายของคำว่า "คูณลาน" หมายความว่าเพิ่มเข้า หรือทำให้มากขึ้นส่วนคำว่า "ลาน" คือสถานที่สำหรับนวดข้าว การนำข้าวที่นวดแล้วกองขึ้นให้สูง เรียกว่า "คูณลาน" การทำประเพณีบุญคูณลานกำหนดเอาเดือนยี่เป็นเวลาทำ เพราะกำหนดเอาเดือนยี่นี่เองจึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนยี่ ดังบรรพบุรุษได้ผูกกลอนสอนให้ชาวบ้านเตรียมการก่อนทำบุญไว้ว่า

"เถิงฤดูเดือนยี่มาฮอดแล้ว

ให้นิมนต์พระสงฆ์องค์เจ้ามาตั้งสวดมงคล

เอาบุญคูณข้าวเข้าป่าหาไม้เห็ดหลัว
อย่าได้หลงลืมทิ่มฮีตเก่าคองเดิมเฮาเด้อ"
หมายความว่า เมื่อถึงฤดูเดือนยี่มาถึงให้นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมงคลทำบุญคูณข้าว ให้จัดหาไม้มาไว้ทำฟืนสำหรับใช้ในการหุงต้มประกอบอาหาร อย่าได้หลงลืมประเพณีเก่าแก่แต่เดิมมาของเรา
พิธีกรรม
การทำบุญคูณลานของชาวบ้านจะไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับการเก็บเกี่ยวข้าวว่าจะเสร็จเมื่อไร วันที่จะขนข้าวขึ้นเล้า (ฉางข้าว) นั่นแหละจะเป็นวันทำบุญคูณลานและทำที่นานั่นเลย แต่ก่อนที่จะทำการนวดข้าวนั้นให้ทำพิธีย้ายแม่ธรณีออกจากลานเสียก่อน และบอกกล่าวแม่โพสพมีอุปกรณ์ที่จะต้องเตรียมดังนี้
1. ใบคูณ ใบยอ อย่างละ 7 ใบ 
2.  เขาควายหรือเขาวัว 1 คู่
3. ไข่ 1 ฟอง 
4.  มัน 1 หัว 
5.  เผือก 1 หัว 
6.  ยาสูบ 4 มวน
7.  หมาก 4 คำ
8.  ข้าวต้ม 1 มัด
9.  น้ำ 1 ขัน
10.   ขัน 5 ดอกไม้ ธูปเทียน
                เมื่อพร้อมแล้วก็บรรจุลงในก่องข้าว (หรือกระติ๊บข้าว) ยกเว้นน้ำและเขาควาย ซึ่งเรียกว่า "ขวัญข้าว" เพื่อเตรียมเชิญแม่ธรณีออกจากลานและบอกกล่าวแม่โพสพ นำก่องข้าว เขาควาย ไม้นวดข้าว 1 คู่ ไม้สน 1 อัน คันหลาว 1 อัน มัดข้าว  มัด ขัดตาแหลว 1 อัน (ตาแหลว เป็นอุปกรณ์ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้คาถากุ้มข้าวใหญ่ของลานอื่นดูดไป) นำไปวางไว้ที่หน้าลอมข้าว(กองข้าว)เสร็จแล้วเจ้าของนาก็ตั้งอธิษฐานว่า "ขอเชิญแม่ธรณีได้ย้ายออกจากลานข้าว และแม่โพสพอย่าตกอกตกใจไปลูกหลานจะนวดข้าวจะเหยียบย่ำอย่าได้โกรธเคืองหรือ อย่าให้บาป" อธิษฐานแล้วก็ดึงเอามัดข้าวที่ฐานลอม (กองข้าว) ออกมานวดก่อนแล้วเอาฟ่อนฟางข้าวที่นวดแล้วห่อหุ้มก่องข้าวมัดให้ติดกัน เอาไม้คันหลาวเสียบฟาง เอาตาแหลวผูกติดมัดข้าวที่เกี่ยวมาจากนาตาแฮกเข้าไปด้วย แล้วนำไปปักไว้ที่ลอมข้าวเป็นอันว่าเสร็จพิธี ต่อไปก็ลงมือนวดข้าวทั้งลอมได้เลย เมื่อนวดเสร็จก็ทำกองข้าวให้เป็นกองสูงสวยงาม เพื่อจะประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ข้าว โดยเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และตาแหลวไปปักไว้ข้างกองข้าวทั้ง ๔ มุม นำตาแหลวและขวัญข้าวไปวางไว้ยอดกองข้าวพันด้วยด้ายสายสิญจน์รอบกองข้าวแล้ว โยงมายังพระพุทธรูป ถึงวันงานก็บอกกล่าวญาติพี่น้องให้มาร่วมทำบุญ นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วก็ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำมนต์ นำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว วัว ควาย เมื่อเสร็จพิธีทางพระสงฆ์แล้วก็จะเป็นการประกอบพิธีบายศรีสูตรขวัญให้แก่ ข้าว
การรักษาโรคด้วยการเป่ามนต์
การเป่าด้วยมนต์คาถา หมอเป่าด้วยการเป่าต่างกันไป ส่วนประกอบที่ใช้และพบบ่อยคือปูนกินหมาก เคี้ยวกระเทียมแล้วเป่า เคี้ยวหมากเป่า เคี้ยวใบไม้บางชนิดเป่า เป็นต้น โรคที่รักษา ได้แก่ ถ้าเลิดเด็กน้อย ปวดศรีษะ โรคผิวหนังบางชนิด (งูสวัด) เป็นต้น การที่หมอเป่าจะรักษาหายหรือไม่หายนั้น หมอเป่าเชื่อว่าเป็นเรื่องของการทำบุญร่วมกันมาในชาติก่อนของหมอกับผู้ป่วย โรคตาแดง วิธีรักษาเอาปูนกินหมากทาที่ผ่ามือเล็กน้อย กำมือทาบที่ปากบริกรรมคาถา กำกับมือ นึกถึงครูบาอาจารย์ แล้วเอามือที่ทาปูนทาบที่ตา เป่ามนต์กำกับอีกครั้ง เป็นเสร็จพิธี ทำติดต่อกันไม่เกิน 3 ครั้ง (3 วัน) โรคตาแดงจะไม่กลับมาเป็นอีกเลย โรคตาแดงจะรักษาเวลาใดก็ได้
- การเสียเคราะห์ เสียเข็ญ เคราะห์ ความหมายคือ สิ่งที่เรายึดติดในจิตโดยการเชื่อมาตามประเพณี เคราะห์ เป็นคำกลาง ส่วนที่ดีเรียก ศุภเคราะห์ หรื สมเคราะห์ ส่วนไม่ดีเรียกว่า บาปเคราะห์ เข็ญ คือความทุกข์ยาก ความลำบาก ความไม่สบายกาย สบายใจ แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต แต่มันเป็นความทุกข์ทรมานจากการไม่สมหวัง ปราชญ์โบราณบอกว่า "เคราะห์เมื่อเว็น เข็ญเมื่อค่ำ" เคราะห์กับเข็ญ ความแตกต่างระหว่างเคราะห์กับเข็ญ ก็คือ เคราะห์มีทั้งหนักและเบา หนักอาจถึงตาย แต่เข็ญนั้นมัลักษณะน่ารำคาญ เหมือนเศษอาหารติดฟัน หรือก้างตำคอ เอาออกไม่ได้ก็พะวงอยู่อย่างนั้น
เครื่องประกอบพิธีเสียเคราะห์เสียลาง
พิธีเสียเคราะห์เสียลาง
การเสียเคราะห์นั้น ท่านให้จัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์ ดังนี้
1.  เทียนฮอบหัว (เทียนวัดรอบศรีษะ) 1 เล่ม
2.  เทียนยาว 1 ศอก 1 เล่ม
3.  เทียนค่าคีง (เทียนความยาวเท่ากับจากเอวถึงคอ) 1 เล่ม
4.  เทียนยาว 1 คืบ 5 คู่
5.  เทียนยาวค่าใจมือ (ยาวเท่ากับจากปลายนิ้วกลางถึงกลางฝ่ามือ) 1 เล่ม
6.  จีบหมาก (เมี่ยง) เท่าอายุ
7.  ข้าว ดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอกแตก ดอกไม้ น้ำส้มป่อย เศวตฉัตร ทุ่งช่อ ทุ่งชัย โทง 4 แจ 9ห้อง ยาวแจละ 1 ศอก 1 โทง ฮูปแฮ้ง 1 ฮูป ฮูปคน 1 ฮูป หลักในโทงยาว 1 ศอก 9 หลัก ปัก 9 บัก ห้อยฝ้ายแดง 2 หลัก ฝ้ายดำ 2 หลัก ฝ้ายขาว 2 หลัก ฝ้ายเหลือง 2 หลัก ดอกฝ้าย 1 หลัก ด้ายสายสิญจน์อ้อมโทงยาว 1 วา 1 เส้น เอาผม 1 เส้น ตัดเล็บตีน เล็บมือใส่ด้วยนิ้วละ 1 ชิ้น เสื้อผ้าคนป่วยที่เคยใช้ (เอาขนผ้าหรือเส้นด้ายบางเส้นก็ได้) ใสในโทง
พิธีกรรมนี้จะทำกันที่บ้านคนป่วย (ผู้ที่มีเคราะห์) ทำให้ได้ครั้งละหลายคน แต่ต้องเอาเครื่องบูชาดัง
กล่าวจากทุกคน เวลาทำควรทำในเวลาเช้าอย่าให้เลยเที่ยงวัน ทำได้ทุกวัน เว้นวันจม วันเดือนดับและ
วันเก้ากอง แต่ที่นิยมคือ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์
ความเสียเคราะห์ จะเป็นการกล่าวบูชาเทวดา ภูติผีเจ้าชาตา ให้ลงมาเอาเครื่องบูชาที่ได้เตรียมไว้นี้
ให้เคราะห์หายไปจากผู้ป่วยไข้โดยไว มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรงตลอดไป

พิธีเสียเข็ญ
พิธีเสียเข็ญ
การเสียเข็ญให้เตรียมสิ่งของ เพื่อการปัดเป่า ดังนี้
1.  เทียนเวียนฮอบหัว 1 เล่ม
2.  เทียนขัน 5 ยาวจากกลางฝ่ามือถึงปลายนิ้วกลาง 5 คู่
3.  โทงหน้างัว (สามเหลี่ยม) ยาวด้านละเท่าคืบคนเป็นเข็ญ 4 โทง
4.  จอกใบขนุนหรือใบฝรั่ง 8 อัน จีบหมากพลูพัน (เมี่ยงหมาก) เท่าอายุ ข้าวแดง ข้าวดำ ข้าวเหลือง แกงส้ม แกงหวานใส่ในโทง
5.  หลักยาว 1 ศอก 8 หลัก ปักไว้โทงละ 2 หลัก ทุงติดหลักละ 1 ทุง (ธง) ด้ายสายสินจน์อ้อม แล้วว่า คำเสียเข็ญ ดังนี้        
สรรพ เข็ญ สรรพเคราะห์ แล่นมาพานปู่แก้ ปู่ปัด สรรพลางแล่นมาข้อง ปู่แก้ปู่ปัด เข็ญแล่น
ต้องเถิงตนเข็ญคนต้องเถิงเนื้อ ปู่แก้ปู่ปัด ปัดอันฮ้ายให้หนี ปัดอันดีให้อยู่ โอมจินจักมึงมาฮ้องให้เป็น
ภัย หมาจังไฮมึงมาหอนให้เป็นโทษ มึงมาฮ้องประโยชน์สิ่งอันใด โอมสวหายะ ตั้งแต่นี้เมือหน้าอย่า
ได้มีศัตรูมาตัด เทวทัตอย่าได้มาพาน ฝูงมารอย่าได้มาใกล้ สรรพเข็ญฮ้ายขอให้พ่ายหนี สัพพะสิทธิ
ภะวันตุ เต ฯห

สัมภาษณ์  นาง ยืน สุธรรมมา  บ้านเลขที่ 57 หมู่ 3 บ้านดอนเย็นใต้ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทรจังหวัดอุบลราชธานี 34340 (สัมภาษณ์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15.43 น.)



  
       สมุนไพรพื้นบ้านในชุมชนอีกชนิดหนึ่งที่ทุกคนรู้จัก  คือ ย่านางแดง ย่านางแดงจะนิยมนำมาต้มเป็นยาดื่มกิน  ซึ่งแตกต่างไปจากย่านางที่นำมาทำอาหาร กล่าวคือ ย่านางแดงเมื่อนำไปต้มจะได้น้ำที่มีสีแดง จึงเป็นที่มาของชื่อ  ย่านางแดง ส่วนย่านางที่ใช้ทำอาหารถ้านำไปต้มจะมีสีเขียวเข้ม ย่านางแดงสามารถต้มได้ทั้งใบสด  และใบที่ตัดแล้วนำมาตากให้แห้งเสียก่อน ชาวบ้านนิยมกินมากเพราะเชื่อว่าเป็นยาที่ทำให้เจริญอาหาร  กินข้าวอร่อย  หญิงที่คลอดบุตรใหม่ๆก็กินเพื่อเร่งน้ำนม  และกินแก้ผิดต่างๆ  ส่วนรากของย่านางแดงนั้น  นำมาฝนให้ละเอียดแล้วผสมน้ำดื่มแก้ผิดเช่นกัน 
      เมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจะเห็นว่ามีการสู่ขวัญ และซ้อนขวัญ  การซ้อนขวัญจะทำโดยใช้ ”สวิง” ซึ่งสวิงนั้นถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ซ้อนขวัญนั่นเอง เนื่องจากสวิงเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน  เช่น    การใช้สวิงซ้อนปลาซิว  ซึ่งสวิงจะมีตาข่ายที่มีความถี่มากแม้แต่ปลาตัวเล็กๆน้อยๆยังไม่หลุดออกมา  ดังนั้นจึงเป็นที่นิยมใช้สวิงซ้อนขวัญเพราะเชื่อว่าขวัญจะได้ไม่หลุด  ในการซ้อนขวัญจะใช้สวิงซ้อนกลับไปกลับมาจนทั่วบริเวณ  เสร็จแล้วก็จะเอามือรวบปากสวิงไว้  (เชื่อว่าขวัญจะได้ไม่ออกจากสวิง) แล้วนำกลับไปในพิธี  (สุรินทร  สุธรรมมา : 2556)

แหล่งข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้า 
  • ย่านางแดง.  จาก  นาง ยืน สุธรรมมา บ้านเลขที่ 57 หมู่ 3 บ้านดอนเย็นใต้ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี 34340   สัมภาษณ์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15.43 น.
  • สมุนไพร. จาก  http://www.sukanya1969.blogspot.com/  เข้าถึงเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11.45 น. 
  • สมุนไพร. จาก  http://www.openbase.in.t/   เข้าถึงเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556  เวลา  12.37 น. 
  • การรักษาโรคด้วยความเชื่อ. จาก  http://www.pantown.com/  เข้าถึงเมื่อ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2556  เวลา  14.57 น.
  • การสู่ขวัญ.  จาก  นาง ยืน สุธรรมมา บ้านเลขที่ 57 หมู่ 3 บ้านดอนเย็นใต้ ตำบลโพธิ์ไทร อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี 34340   สัมภาษณ์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15.43 น.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น